จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน

อันเนื่องจาก ข้าพเจ้าอยากจะเขียนเรื่องรัฐสวัสดิการที่เกี่ยวโยงกับนโนบายประชานิยม ที่กำลังฮิตๆอยู่ตอนนี้ ก็ต้องรู้ที่มาจากเจ้าตำรับการริเริ่มเรื่องนี้ในเมืองไทยก่อนครับ จากผลงานระดับปรมาจารย์ท่านหนึ่งของเมืองไทย ซึ่งก็คือ อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์

อดีตเสรีไทย คนสำคัญคนหนึ่งในยุคสงครามโลกครั้งที่ ๒ อดีตผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้วางรากฐานทางเศรษฐศาสตร์ ผู้วางหลักของธนาคารชาติ ผู้ให้ริเริ่มให้ธนาคารชาติให้ทุน ส่งนักเรียนทุนไทยไปศึกษาเรื่องเศรษฐศาตร์ในต่างประเทศ เพื่อหวังว่าจะกลับมา พัฒนาชาติบ้านเมือง..(บ้าง)

อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  อดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ อดีตศาสตราจารย์พิเศษ Woodrow Wilson School, Princeton University สหรัฐอเมริกา อดีตศาสตราจารย์พิเศษ University College (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Wolfson College) Cambridge University สหราชอาณาจักร 

และผู้รับรางวัลรามอน แมกไซไซ ปี ๒๕๐๘ และอดีตอื่นๆ อีกมากมาย ตามไปดู ชีวประวัติ ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้ครับ

ที่สำคัญ อ.ป๋วย คืออดีตคนไทยผู้รักชาติ ผู้สร้างชาติที่ถูกลืม ต้องไปใช้ชีวิตปั้นปลายที่ ข้าพเจ้าเข้าใจว่าค่อนข้างโดดเดี่ยวในชีวิตที่เหลือที่ต่างประเทศ เนื่องจากเผชิญกับมรสุมทางการเมือง โดยไปอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ จนถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคเส้นโลหิตในช่องท้องแตก เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๔๒ สิริรวมอายุได้ ๘๔ ปี ๔ เดือน ๑๙ วัน

ดังนั้นข้าพเจ้าขอยกบทความเรื่องเอกเรื่องหนึ่งของอาจารย์ อันเป็นที่มาของคำว่า “รัฐสวัสดิการ” ในเมืองไทย คือเรื่อง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน หรือมีชื่อเต็มว่า คุณภาพชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน เขียนโดย อ. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มีลิขสิทธิ์หรือเปล่าไม่สนใจครับ ข้าพเจ้าขอยกมาเผยแพร่ทั้งหมดเลยครับ ของดีที่ไม่ค่อยมีคนรู้กัน ต้องบอกต่อ ตั้งแต่บรรทัดล่างนี้เป็นต้นไปครับ เพื่อประโยชน์แก่ทุกท่านและเพื่อประเทศบ้างก็ดี ขอความสวัสดีมีชัย จงมีแต่ท่านผู้อ่านทุกท่าน..ข้าพเจ้าเอง

                 Puay

เมื่อผมอยู่ในครรภ์ของแม่ ผมต้องการให้แม่ได้รับประทานอาหารที่เป็นคุณประโยชน์ และได้รับความเอาใจใส่ และบริการอันดีในเรื่องสวัสดิภาพของแม่และเด็ก ผมไม่ต้องการมีพี่น้องมากอย่างที่พ่อแม่ผมมีอยู่ และแม่จะต้องไม่มีลูกถี่นัก

พ่อกับแม่จะแต่งงานกันถูกกฎหมาย หรือธรรมเนียมประเพณีหรือไม่ ไม่สำคัญ แต่สำคัญที่ พ่อกับแม่ต้องอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข ทำความอบอุ่นให้ผมและพี่น้อง

ในระหว่าง ๒-๓ ขวบแรกของผม ซึ่งร่างกายและสมองผมกำลังเติบโตในระยะที่สำคัญ ผมต้องการให้แม่ผมกับตัวผม ได้รับประทานอาหารที่เป็นคุณประโยชน์

ผมต้องการไปโรงเรียน พี่สาวหรือน้องสาวผมก็ต้องการไปโรงเรียน จะได้มีความรู้หากินได้ และจะได้ รู้คุณธรรมแห่งชีวิต ถ้าผมสติปัญญาเรียนชั้นสูง ๆ ขึ้นไป ก็ให้มีโอกาสเรียนได้ ไม่ว่าพ่อแม่ผมจะรวย หรือจน จะอยู่ในเมืองหรือชนบทแร้นแค้น

เมื่อออกจากโรงเรียนแล้ว ผมต้องการงานอาชีพที่มีความหมาย ทำให้ได้รับความพอใจว่า ตนได้ทำงานเป็นประโยชน์แก่สังคม

บ้านเมืองที่ผมอาศัยอยู่จะต้องมีขื่อ มีแป ไม่มีการข่มขู่ กดขี่ หรือประทุษร้ายกัน ประเทศของผมควรจะมีความสัมพันธ์อันชอบธรรม และเป็นประโยชน์กับโลกภายนอก ผมจะได้มีโอกาสเรียนรู้ถึงความคิด และวิชาของมนุษย์ทั้งโลก และประเทศของผมจะได้มีโอกาส รับเงินทุนจากต่างประเทศ มาใช้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม

ผมต้องการให้ชาติของผมได้ขายผลิตผลแก่ต่างประเทศด้วยราคาอันเป็นธรรม ในฐานะที่ผมเป็นชาวไร่ชาวนา ผมก็อยากมีที่ดินของผมพอสมควรสำหรับทำมาหากิน มีช่องทางได้กู้ยืมเงินมาขยายงาน มีโอกาสรู้วิธีการทำกินแบบใหม่ ๆ มีตลาดดี และขายสินค้าได้ราคายุติธรรม

ในฐานะที่ผมเป็นกรรมกร ผมก็ควรจะมีหุ้นมีส่วนในโรงงาน บริษัท ห้างร้านที่ผมทำอยู่

ในฐานะที่ผมเป็นมนุษย์ ผมก็ต้องการอ่านหนังสือพิมพ์ และหนังสืออื่น ๆ ที่ไม่แพงนัก จะฟังวิทยุ ดูโทรทัศน์ ก็ได้โดยไม่ต้องทนรบกวนจากการโฆษณามากนัก

ผมต้องการสุขภาพอนามัยอันดี และรัฐบาลจะต้องให้บริการป้องกันโรคแก่ผมฟรี กับบริการการแพทย์ รักษาพยาบาลอย่างถูกอย่างดี เจ็บป่วยเมื่อใดหาหมอพยาบาลได้สะดวก

ผมจำเป็นต้องมีเวลาว่างสำหรับเพลิดเพลินกับครอบครัว มีสวนสาธารณะที่เขียวชะอุ่ม สามารถมีบทบาท และชมศิลปะ วรรณคดี นาฏศิลป์ ดนตรี วัฒนธรรมต่าง ๆ เที่ยวงานวัน งานลอยกระทง งานนักขัตฤกษ์ งานกุศลอะไรก็ได้พอสมควร

ผมต้องการอากาศบริสุทธิ์สำหรับหายใจ น้ำดื่มบริสุทธิ์สำหรับดื่ม

เรื่องอะไรที่ผมทำเองไม่ได้ หรือได้แต่ไม่ดี ผมก็จะขอความร่วมมือกับเพื่อนฝูงในรูปสหกรณ์ หรือ สโมสร หรือสหภาพ จะได้ช่วยซึ่งกันและกัน

เรื่องที่ผมจะเรียกร้องข้างต้นนี้ ผมไม่เรียกร้องเปล่า ผมยินดีเสียภาษีอากรให้ส่วนรวมตามอัตภาพ

ผมต้องการโอกาสที่มีส่วนในสังคมรอบตัวผม ต้องการมีส่วนในการวินิจฉัยโชคชะตาทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของชาติ

เมียผมก็ต้องการโอกาสต่าง ๆ เช่นเดียวกับผม และเราสองคนควรจะได้รับความรู้และวิธีการวางแผนครอบครัว

เมื่อแก่ ผมและเมียก็ควรได้ประโยชน์ตอบแทนจากการประกันสังคม ซึ่งผมได้จ่ายบำรุงตลอดมา

เมื่อจะตาย ก็ขออย่าให้ตายอย่างโง่ ๆ อย่างบ้า ๆ คือตายในสงครามที่คนอื่นก่อให้เกิดขึ้น ตายในสงครามกลางเมือง ตายเพราะอุบัติเหตุรถยนต์ ตายเพราะน้ำหรืออากาศเป็นพิษ หรือตายเพราะการเมืองเป็นพิษ

เมื่อตายแล้ว ยังมีทรัพย์สมบัติเหลืออยู่ เก็บไว้ให้เมียผมพอใจในชีวิตของเธอ ถ้าลูกยังเล็กอยู่ก็เก็บไว้ เลี้ยงให้โต แต่ลูกที่โตแล้วไม่ให้ นอกนั้นรัฐบาลควรเก็บไปหมด จะได้ใช้เป็นประโยชน์ในการบำรุงชีวิตของคนอื่น ๆ บ้าง

ตายแล้ว เผาผมเถิด อย่าฝัง คนอื่นจะได้มีที่ดินอาศัยและทำกิน และอย่าทำพิธีรีตอง ในงานศพให้วุ่นวายไป

นี่แหละคือความหมายของชีวิต นี่แหละคือการพัฒนาที่จะควรให้เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ของทุกคน

สุดท้ายนี้ ขอขอบพระคุณท่านทั้งหลายที่อุตส่าห์อ่านมาจนจบ ขอความสุขสวัสดีและสันติสุข จงเป็นของท่านทั้งหลาย และพระท่านกล่าวไว้ดังนี้เกี่ยวกับความสวัสดี

“เราตถาคตไม่เห็นความสวัสดีอื่นใดของสัตว์ทั้งหลาย นอกจากปัญญา เรื่องตรัสรู้ ความเพียร ความสำเร็จอินทรีย์ และความเสียสละ”

ปล. ข้อเขียนนี้เดิมเป็นภาษาอังกฤษ ถูกนำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาการพัฒนาเอเชียตะวันออกไกล (Southeast Asian Development Advisory Group – SEADAG) เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ ก่อนจะตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ ในชื่อ The Quality of Life of a South East Asian : A Chronical of Hope from Womb to Tomb (ต่อมารู้จักกันในชื่อ From Womb to Tomb) และภายหลังถูกแปลเป็นภาษาไทยตามที่เรารู้จักกันครับ

Tags: , , , , , , ,

8 Responses to “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน”

  1. กูรูขอบสนาม Says:

    บทความชิ้นนี้ บ่งบอกถึงความเป็นตัวตนของอาจารย์ป๋วยได้ดีที่สุด

    จิตใจเสรีนิยม มุมมองเศรษฐกิจแบบรัฐสวัสดิการ
    เป็นบทความที่อมตะและมักจะถูกนำมาตีพืมพ์ครั้งแล้วครั้งเล่า

    ยิ่งอ่านยิ่งคิดถึงเตี่ย
    พวกเราลูกศิษย์ทั้งที่ได้เรียนและไม่ได้เรียน
    มักจะเรียก อาจารย์ป๋วยว่า เตี่ย เสมอ

  2. dcopywriter Says:

    ขอเรียกว่า เตี่ย ด้วยคนครับ

  3. รัฐสวัสดิการ ปะทะ ประชานิยม ปะทะ คนเดือนตุลา « A dcopywriter world,it’s me Says:

    […] ผู้พ่อไปแล้ว ในตอน จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ของเตี่ยทางเศรษฐศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ […]

  4. รักประชาธิปไตยครับ Says:

    จับใจมากครับ
    รอวันที่คนไทยจะได้พบกับสิ่งดีๆที่พัฒนาให้เป็นจริงขึ้นมาเสียที

  5. psychic reading free Says:

    psychic reading free…

    […]จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน « A dcopywriter world,it’s me[…]…

  6. Mtanaporn Wcf Says:

    ยังจดจำภาพอาจารย์ป่วยได้เสมอ เคยเดินสวนกันท่านยิ้มให้ที่หน้าตึกโดม ตอนนั้นท่านเป็นอธิการบดี ส่วนเราเพิ่งเข้าเป็นนักศึกษาปีแรก

  7. Anonymous Says:

    อ่านแล้วคิดถึงในยุคนี้เป็นยุคแห่งความอับจนทางความคิดและปัญญา

  8. siriwon janekarn Says:

    อาจารย์ป๋วยฯ เป็นกำลังใจ เป็นต้นแบบคนดี มีคุณธรรม สมควรสืบสานปรัชญาในการดำเนินชีวิตของท่านต่อไปตราบนานเท่านาน

Leave a comment