มหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐

  

                      King rama 9 

เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติในช่วงเทศกาลเดือนธันวาคมนี้ โดยเฉพาะวันที่ ๕ ธันวาคม ของทุกๆปี ซึ่งเป็นวันพิเศษมากที่สุดในรอบปีของปวงชนชาวไทยทั้งปวง ที่จะได้ชื่มชมพระจริยวัตรอันงดงามของในหลวงท่านในงานพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดชมหาราช โดยมีตลอดตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายนจนถึงเดือนธันวาคม สำหรับปีนี้ยิ่งพิเศษ มีตลอดทั้งปี ทั้งนี้ เนื่องในงานครบพระชนมครบ ๘๐ พรรษา ขอบันทึกพระราชประวัติโดยย่อไว้ เพื่อเผยแผ่ให้ทั่วถึงกันทุกคน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เสด็จพระราชสมภพ ณ โรงพยาบาลเมานท์ ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสสาชูเซสท์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันจันทร์ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือนอ้าย ปีเถาะ จุลศักราช ๑๒๘๙ ตรงกับวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๔๗๐ มีพระนามเดิมว่า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช เป็นพระราชโอรสพระองค์เล็กใน สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ ซึ่งทรงเป็นพระราชโอรส ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า  และสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ ซึ่งภายหลังทั้งสองพระองค์ได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธย เป็น สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีพระเชษฐาคินีและพระเชษฐา คือ 

      •  สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
         ประสูติเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๖๖ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

      • พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘
         เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๖๘ ณ เมืองไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมันนี

และเมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๑ ได้โดยเสด็จสมเด็จพระบรมราชชนก ซึ่งทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิตเกียรตินิยม จาก มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา เสด็จกลับประเทศไทย ประทับ ณ วังสระปทุม 
     
ต่อมาในวันที่ ๒๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๗๒ สมเด็จพระบรมราชชนกทิวงคต ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ทรงเจริญพระชนมายุได้ไม่ถึงสองพรรษา และเมื่อมีพระชนมายุได้ ๕ พรรษา ได้เสด็จเข้ารับการศึกษาชั้นต้น ณ โรงเรียนมาแตร์ เดอี กรุงเทพฯ จนถึงพุทธศักราช ๒๔๗๖ จึงเสด็จไปประทับ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี พระเชษฐภคินีและพระเชษฐา

ทรงศึกษาต่อในชั้นประถมศึกษา ในโรงเรียนเมียร์มองต์ ทรงศึกษาวิชาภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมันและภาษาอังกฤษ จากนั้นทรงเข้าศึกษาชั้นมัธยมศึกษา ณ เอกอล นูแวล เดอ ลา ชืออิส โรมองต์ เมืองแชลลี ชือ โลซานน์ ทรงได้รับประกาศนียบัตรทางอักษรศาสตร์จาก ยิมนาส กลาชีค กังโดนาล แห่งเมืองโลซานน์ แล้วทรงเข้าศึกษาใน มหาวิทยาลัยโลซานน์ โดยทรงเลือกศึกษาในแขนงวิชาวิศวกรรมศาสตร์
     
ในพุทธศักราช ๒๔๗๗ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดล เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ ๘ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช

จึงทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๘ และได้โดยเสด็จพระราชดำเนิน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล นิวัติประเทศไทยเป็นครั้งแรก ในพุทธศักราช ๒๔๘๑ โดยประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เป็นการชั่วคราว แล้วเสด็จกลับไปประเทศสวิตเซอร์แลนด์

จนถึงพุทธศักราช ๒๔๘๘ จึงโดยเสด็จพระราชดำเนิน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล นิวัติประเทศไทยเป็นครั้งที่สอง ครั้งนี้ประทับ ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง

ในวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จสวรรคตโดยกระทันหัน ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช จึงเสด็จขึ้นครองราชสมบัติสืบราชสันตติวงศ์ในวันเดียวกันนั้น

แต่เนื่องจากยังทรงมีพระราชภารกิจด้านการศึกษา จึงต้องทรงอำลาประชาชนชาวไทย เสด็จพระราชดำเนินกลับไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์อีกครั้งหนึ่ง ในเดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๙ เพื่อทรงศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยแห่งเดิม ในครั้งนี้ ทรงเลือกศึกษาวิชากฎหมายและวิชารัฐศาสตร์ แทนวิชาวิศวกรรมศาสตร์ที่ทรงศึกษาอยู่เดิม

ระหว่างที่ประทับศึกษาอยู่ในต่างประเทศนั้น ทรงพบกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ธิดาในพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ (พระนามเดิม หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระอิสริยยศ ขึ้นเป็น พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้านักขัตรมงคลเมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๓ และในพุทธศักราช ๒๔๙๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม มีพระนามว่าพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ ) และหม่อมหลวงบัว ( สนิทวงศ์ ) กิติยากร ต่อมาทรงหมั้นกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ในวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๙๒ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ในพุทธศักราช ๒๔๙๓ เสด็จพระราชดำเนินนิวัติพระนคร ประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ในเดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ 
  
ต่อมาในวันที่ ๒๘ เมษายน ปีเดียวกัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ณ พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ในวังสระปทุม ซึ่งในการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสนี้ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ขึ้นเป็น สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์

ในวันที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบอย่างโบราณราชประเพณีขึ้น ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง เฉลิมพระบรมนามาภิไธย ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร พร้อมทั้งพระราชทานพระปฐมบรมราชโองการว่า

 “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

และในโอกาสนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศ สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี

หลังจากเสร็จการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงรักษาสุขภาพ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตามที่คณะแพทย์ได้ถวายคำแนะนำ 

ในพุทธศักราช ๒๔๙๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชศรัทธาที่จะทรงผนวช จึงได้เสด็จออกทรงผนวช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๙๙ เสร็จการพระราชพิธีทรงผนวชแล้ว เสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศวิหาร โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ตลอดเวลา ๑๕ วันที่ทรงผนวชอยู่

และจากการที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้อย่างเรียบร้อย เป็นที่พอพระราชหฤทัย จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ 
     
ในปีเดียวกันนั้นเอง และในพุทธศักราช ๒๕๐๐ ทรงย้ายที่ประทับจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปประทับที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต จนถึงปัจจุบัน 

                          Rama9_emblem_hbd80

สำหรับตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ ออกแบบโดยนายสุเมธ พุฒพวง นักวิชาการช่างศิลป์ ๗ กลุ่มงานศิลปประยุกต์กลุ่มจิตรกรรมศิลปประยุกต์และลายรดน้ำ กรมศิลปากร

มีราชละเอียดคือมี พระราชลัญจกรรัชกาลที่ ๙ แทนองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ โดยมีพระมหาพิชัยมงกุฏพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ๙ ชั้นไว้ด้านบนสุด และพระเศวตฉัตร ๗ ชั้น หมายถึงเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์

มีเลขไทย ๘๐ อยู่ด้านล่างและเพชร ๘๐ เม็ดที่อยู่รอบๆ ตราสัญลักษณ์ หมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา

มีแพรแถบสีชมพู บอกชื่อตราสัญลักษณ์ พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ ทั้งนี้สีชมพูเป็นสีประจำอายุตามหลักโหราศาสตร์ไทย หมายถึงการมีสุขภาพและพลานามัยที่สมบูรณ์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงรับสั่งให้เขียนดอกพิกุลเพิ่มเติมที่แท่นแปดเหลี่ยมรองรับพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ ที่มีความถึงความอุดมสมบูรณ์ โดยมีดอกพิกุล ๙ ดอก ประกอบด้วยพิกุลเงิน ๔ ดอก และพิกุลทอง ๕ ดอก หมายถึง รัชกาลที่ ๙ โดยในวันพระบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้โปรยเงินและทอง ให้แก่ พราหมณ์และพระบรมวงศานุวงศ์ด้วย

ทุกๆท่านสามารถเข้าไปดูภาพเก่าเกี่ยวกับพระองค์ท่านกับประสกนิกรชาวไทยเรา ที่เราๆท่านๆคุ้นตากันดี ที่อ่านไปข้าพเจ้าก็ตื้นตันใจไป ซึ่งมีภาพพร้อมประวัติดูได้ที่ ลำดับภาพ ตามหาข้าแผ่นดิน, ภาพประทับใจในหลวงของฉัน, ในหลวงของฉัน มีคนใจดีรวบรวมไว้ให้ แม้ภาพจะเล็กและรายละเอียดจะน้อยไปหน่อยแต่ก็ได้ใจความครบทุกประเด็น

ขอให้พระองค์ทรงมีพระสุขภาพอนามัยแข็งแรง อยู่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร สถิตเป็นมิ่งขวัญของเราปวงชนชาวไทย ตลอดกาลนาน


ควรมิควรแล้วแต่จะกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะข้าพระพุทธเจ้า
CopyWriter

Tags: , , ,

3 Responses to “มหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐”

  1. 1001ii Says:

    ทรงพระเจริญครับ

  2. dcopywriter Says:

    ทรงพระเจริญยิ่งยืนนานครับ

  3. punn Says:

    long live the king

Leave a reply to punn Cancel reply